Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
ทำประกันชีวิตให้พอดี

“ทำประกันชีวิตให้มีความคุ้มครองครอบครัวหรือคนที่รักอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี (36 เท่าของรายได้ต่อเดือน) ” – K-Expert

พูดถึงการทำประกันชีวิต หลายคนอาจสงสัยว่า เราควรทำประกันชีวิตกี่กรมธรรม์ แถมประกันก็มีหลากหลายรูปแบบ เราควรทำประกันแบบไหนดี หรือควรทำทุนประกันมากน้อยแค่ไหน คำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการทำประกันเหล่านี้ K-Expert มีคำตอบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำประกันชีวิตให้พอดีมาฝากค่ะ มีดังนี้ค่ะ

จริงๆ แล้ว การทำประกันชีวิตที่เหมาะสมไม่ได้อยู่ที่จำนวนกรมธรรม์ แต่อยู่ที่ความคุ้มครองหรือทุนประกันที่ควรทำให้ครอบคลุมความจำเป็นหรือความเสี่ยง รวมถึงการเลือกรูปแบบประกันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยความคุ้มครองที่เราควรทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้นั้น

คุ้มครองครอบครัว ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว หรือมีคนอยู่ในอุปการะต้องดูแล ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ สามีภรรยา หรือลูกหลาน ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเรา แน่นอนว่าเราคงอยากให้คนที่เรารักสามารถอยู่ต่อไปได้โดยไม่เดือดร้อน หรือมีเวลาในการปรับตัวได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งการทำประกันชีวิตจะช่วยคุ้มครองความเสี่ยงนี้ได้ สำหรับแบบประกันที่เหมาะสม คือ แบบตลอดชีพ โดยควรทำประกันให้มีความคุ้มครองครอบครัวอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี (หรือ 36 เท่าของรายได้ต่อเดือน) ซึ่งประกันชีวิตแบบตลอดชีพเป็นประกันที่จ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวหรือผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันถ้ามีชีวิตอยู่จนถึงอายุตามที่กำหนดในกรมธรรม์ เช่น 90 ปี 95 ปี หรือ 99 ปี



สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่วางแผนเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูก นอกจากการออมเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินฝาก กองทุนรวมแล้ว ก็ควรทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพควบคู่กันไปด้วย โดยให้มีความคุ้มครองครอบคลุมค่าเล่าเรียนของลูก เพราะถ้าเราเกิดเป็นอะไรไปขึ้นมาก่อนเก็บเงินได้ครบตามระยะเวลาที่วางแผนไว้ การทำประกันก็ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า ลูกที่เรารักจะได้รับการศึกษาตามที่ต้องการ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ ทำประกันเพื่อการศึกษาลูก โดยทั่วไปมักจ่ายเงินให้เป็นรายงวดตามอายุ หรือระดับการศึกษาของลูก หรือทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยให้มีระยะเวลารับเงินเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดสอดคล้องกับระยะเวลาใช้เงิน

คุ้มครองหนี้สินบ้าน สำหรับผู้ที่มีภาระหนี้สินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และมักมีระยะเวลาผ่อนนานเป็นสิบๆ ปี การทำประกันจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าผู้กู้บ้านเสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ตามเดิม ภาระผ่อนบ้านจะตกเป็นของลูกหลานหรือคนในครอบครัวที่เรารักทันที แต่ถ้าเราทำประกันชีวิตเอาไว้ เงินชดเชยที่ได้รับจากประกัน
สามารถนำมาชำระคืนยอดหนี้สินที่เหลืออยู่ได้ ซึ่งแบบประกันชีวิตที่เหมาะสม คือ แบบชั่วระยะเวลา โดยควรทำประกันให้มีระยะเวลาความคุ้มครองและทุนประกันสอดคล้องกับระยะเวลาในการผ่อนชำระและวงเงินสินเชื่อ ส่วนค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายก็จะขึ้นอยู่กับเพศ อายุของผู้ขอสินเชื่อ ทุนประกัน และระยะเวลาความคุ้มครอง



นอกจากนี้ในการทำประกันต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระค่าเบี้ยประกันด้วยนะคะ เพราะถ้าซื้อประกันโดยไม่ได้พิจารณาว่า แบบประกันที่ทำนั้นให้ความคุ้มครองหรือทุนประกันแค่ไหนเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย ซึ่งบางแบบต้องจ่ายเบี้ยประกันที่สูง เพื่อให้ได้ความคุ้มครองเพียงพอกับความต้องการ อาจทำให้การจ่ายเบี้ยประกันกลายมาเป็นภาระทางการเงินแทนได้ค่ะ

สรุปได้ว่าการทำประกันชีวิตควรดูที่ทุนประกันเป็นหลักอย่างน้อยให้เพียงพอสำหรับเป็นเงินทุนให้ครอบครัวดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่เดือดร้อนมากนักและถ้ามีภาระผ่อนบ้านอยู่ด้วย ก็ควรทำประกันคุ้มครองหนี้สินเอาไว้ เพื่อไม่ให้คนที่รักต้องแบกรับภาระผ่อนชำระหนี้บ้านในอนาคตค่ะ

AUTHOR


นิชฌานี ฉันทศาสตร์
K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

RELATED STORY